ยางพาราต้นแรกของประเทศไทย
ตั้งอยู่ริมถนนก่อนเข้าสู่ตัวเมืองอำเภอกันตัง
หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้นยางไม่โตสักเท่าไหร่เลย
เขาเล่าว่านี่คือหนึ่งในต้นยางชุดแรกที่ ท่านพระยารัษฎาฯ นำมาปลูก
แต่เผอิญต้นนี้ปลูกอยู่บนชั้นหินทำให้ต้นไม้ไม่โตเท่าที่ควร
ยางพาราเป็นพืชที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน เริ่มจากการเดินทางไปพบทวีปอเมริกาของโคลัมบัส ในราวปี พ.ศ.2036 หรือเป็นเวลาประมาณ 510 ปีมาแล้ว ต่อมาได้มีการสำรวจหลายคณะเดินทางไปภายหลัง พบเห็นชาวอินเดียแดงซึ่งเป็นคนพื้นเมืองในอเมริกาใต้ นำลูกบอลล์ยางเล็กๆ มาเล่นเกมส์และเห็นเป็นของแปลกที่มีวัตถุกระดอนเต้นขึ้นลงได้ ชาวอินเดียแดงเรียกต้นยางว่า "คาอุห์ชุค" (Caoutchoue) แปลว่า "ต้นไม้ที่ร้องไห้" เพราะเมื่อต้นยางถูกของมีคมจะมีน้ำยางหยดไหลคล้ายหลั่งน้ำตา ชาวอินเดียแดงนำยางมาทำของใช้ต่างๆ เช่น ขวดหรือภาชนะที่ทำจากยาง และรองเท้ายางที่ทำง่ายๆ โดยใช้เท้าจุ่มลงในน้ำยางแล้วยกมาปล่อยให้แห้ง ทำหลายๆ ครั้งจะได้รองเท้ายางที่แนบสนิทเหมือนสวมถุงเท้า คณะนักสำรวจจากยุโรปเดินทางกลับได้มีผู้นำยางจากเมืองพารา (PARA) ซึ่งเป็นเมืองท่าแถบลุ่มน้ำอะเมซอนอเมริกาใต้ และเมื่อถึงยุโรปแล้วได้พบโดยบังเอิญว่า ถ้านำยางมาถูรอยดินสอจะลบรอยดินสอได้ (Rubber) ชื่อ "ยางพารา" หรือ PARA RUBBER จึงเป็นชื่อที่ติดปากคนทั่วโลกตั้งแต่นั้นมา
การค้นคว้าพัฒนายางทางอุตสาหกรรมในยุโรปขยายตัวอย่างรวดเร็ว เริ่มจากนำน้ำยางสดไปเคลือบผ้าทำผ้ายางกันฝนได้ นำไปผลิตทำที่รองรับความยืดหยุ่นของเครื่องยนต์ ใช้ทางการแพทย์ ทำอุปกรณ์กีฬาและของเล่นต่างๆ แต่ที่สำคัญแล้วใช้เป็นปริมาณมากที่สุด คือ ใช้ในอุตสาหกรรมทำยางรถยนต์ และใช้เทคโนโลยีสูดสุด ได้แก่ การทำล้อเครื่องบิน นอกจากนี้ยังใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ พวกโซฟา ที่นอนฟองน้ำ ทำให้เราได้นั่งได้นอนที่นุ่มๆ แสนสบาย ยางพาราจึงเป็นต้นไม้ที่สวรรค์ประทานมา เพื่อความผาสุขของมวลมนุษย์ชาติ
ยางพาราเข้าสู่ไทย
ประมาณปี พ.ศ.2442 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง ได้นำยางพาราจากมาเลเซียเข้ามาปลูกที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรังเป็นแห่งแรก และต้นยางต้นดังกล่าวปัจจุบันก็ยังอยู่ ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนก่อนเข้าสู่ตัวเมืองอำเภอกันตัง นับจากเริ่มปลูกครั้งแรกถึง พ.ศ.2548 ยางพาราไทย อายุครบ 106 ปี
เหตุใดต้องมีสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)
ต้นยางแก่ที่ปลูกมา 20-25 ปี หน้ากรีดจะเสียหายและให้ผลผลิตน้อยไม่คุ้มค่า และไม่สามารถจะยึดถือเป็นอาชีพต่อไปได้ เจ้าของสวนยางส่วนใหญ่ 80-90 เปอร์เซ็นต์ เป็นเจ้าของสวนยางขนาดเล็ก ซึ่งไม่มีทุนรอนที่จะไปทำการโค่นปลูกใหม่ได้ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน คือ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ได้จัดตั้งกองทุนสงเคราะห์ช่วยเหลือเจ้าของสวนยางในประเทศของเขา ในการแก้ปัญหาดังกล่าว จากแนวคิดนี้รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้ออกพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางขึ้นในปี พ.ศ.2503 ให้ สกย.เป็นองค์กรของรัฐประเภทไม่แสวงหาผลกำไรเชิงธุระกิจ โดยให้ทำการเก็บเงินสงเคราะห์ (Cess) จากผู้ส่งยางออกนอกราชอาณาจักรแล้วนำเงินทุนดังกล่าวมาบริหารงาน 10 เปอร์เซ็นต์ ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ จ่ายให้กรมวิชาการเกษตร เพื่อค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับยาง และ 85 เปอร์เซ็นต์ ต้องนำมาเพื่อให้การสงเคราะห์ปลูกแทน การให้ทุนสงเคราะห์ปลูกแทนนั้น นอกจากให้ปลูกยางพันธุ์ดีแล้ว สกย.ยังให้ทำการปลูกแทนด้วยไม้ผลและพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ได้อีกประมาณ 30 ชนิด และที่นิยมขอทุนปลูกแทนกันกว้างขวางขณะนี้ คือ ขอปลูกแทนด้วยปาล์มน้ำมัน ปาล์มน้ำมันจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มาแรง มีการขอทุนกันมากขึ้นทุกปี
ปัจจุบันประเทศไทยผลิตยางพาราธรรมชาติได้มากที่สุดในโลก เนื้อที่ปลูกประมาณ 12.3 ล้านไร่ มีผลผลิตส่งออกปีละประมาณ 2.4 ล้านตัน มูลค่า 100,000 ล้านบาท/ปี ส่งออกไปในรูปน้ำยางข้น (Concentrate Latex) ยางแผ่นรมควัน (Ribbed Smoke Sheet : RSS) ยางอบแห้ง (Air Dried Sheet : ADS) และยางแท่ง (Standard Thai Rubber : STR) และที่ตลาดต้องการมากที่สุดคือยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS 3) และยางแท่งเบอร์ 20 (STR 20) เพราะยางทั้งสองชนิดนี้นำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมทำยางรถยนต์
ยางพารา.......สินค้าส่งออกสำคัญของไทย
ข่าวเศรษฐกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า -- ศุกร์ที่ 23 มิถุนายน 2543 10:58:47 น.
กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--ธสน.
ประเทศ ไทยเป็นผู้ผลิต และส่งออกยางธรรมชาติ รายใหญ่ที่สุดของโลกมาตั้งแต่ ปี 2534 มีสัดส่วนการผลิตประมาณร้อยละ 30 ของผลผลิตรวมของโลก และมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 40 ของปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติในตลาดโลก ผลิตภัณฑ์ยางพาราที่ไทยส่งออกแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
- ผลิตภัณฑ์ยางกึ่งสำเร็จรูปหรือผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปขั้นต้น เป็นผลผลิตจากการแปรรูปขั้นต้นจากน้ำยางที่กรีดได้ให้อยู่ในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางต่อไป
- ผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูป เป็นผลผลิตที่ได้จากการแปรรูปยางขั้นต้น เป็นสินค้าสำเร็จรูปประเภทต่าง ๆ เช่น ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย สายพาน ท่อยาง ฯลฯ
ผลิตภัณฑ์ยางขั้นต้นที่แปรรูปมาจากน้ำยางดิบ แบ่งออกได้เป็น 5 ประเภทที่สำคัญ ดังนี้
1. ยางแผ่นรมควัน (Ribbed Smoked Sheet : RSS)
ผลิต จากน้ำยางสดโดยเติมสารเคมีให้น้ำยางจับตัวเป็นก้อน แล้วรีดก้อนยางให้เป็นแผ่นด้วยเครื่องรีด และผึ่งลมให้หมาด จะได้ยางแผ่นดิบ จากนั้นจึงนำส่งโรงงานรมควัน ซึ่งจะอบยางแผ่นดิบให้แห้งโดยใช้ควันไฟรมยางให้แห้ง
ยางแผ่นรมควันจะถูก คัดเลือกจัดชั้นด้วยสายตา (Visual Grading) ออกเป็น 5 ระดับ ตามคุณสมบัติด้านความใส ความแห้ง ความสม่ำเสมอของสีและเนื้อยาง ฯลฯ ยางแผ่นรมควันชั้น 1 ถือเป็นชั้นที่มีคุณภาพดีที่สุด ยางแผ่นรมควันที่ไทยผลิตได้ส่วนใหญ่เป็นคุณภาพปานกลาง คือ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 และชั้น 4 ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึงประมาณร้อยละ 95 ของผลผลิตยางแผ่นรมควันทั้งหมดของไทย ยางแผ่นรมควันส่วนใหญ่มักนำไปใช้เป็นวัตถุดิบ ในอุตสาหกรรมผลิตยางยานพาหนะ
2. ยางแท่ง (Technically Specified Rubber : TSR)
ผลิต จากน้ำยางสดหรืออาจใช้ยางที่จับตัวแล้วหรือยางแห้ง เช่น ยางแผ่นดิบ ยางก้นถ้วย ขี้ยาง เศษยาง เป็นวัตถุดิบก็ได้ วิธีการผลิตคือ ตัดย่อยก้อนยางให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ล้างสิ่งสกปรกออก แล้วนำยางไปอบแห้ง และอัดเป็นแท่งตามขนาดที่ต้องการ มาเลเซียเป็นประเทศแรกที่คิดค้นพัฒนาการผลิตยางแท่งเพื่อแข่งขันกับยาง สังเคราะห์ และใช้วิธีตรวจสอบคุณสมบัติของยางตามมาตรฐานสากลเป็นเกณฑ์กำหนดชั้นของยาง แทนการจัดชั้นด้วยสายตาแบบที่ใช้กับยางแผ่นรมควัน ต่อมาประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติอื่น ๆ ก็ได้ผลิตยางแท่ง และกำหนดมาตรฐานการจัดชั้นยางแท่งแบบเดียวกับมาเลเซีย แต่ใช้ชื่อเรียกต่างออกไปเป็นของตนเอง
ประเทศไทยก็ได้กำหนดมาตรฐานยาง แท่งของตนเองเป็น STR (Standard Thai Rubber) ซึ่งสอด-คล้องกับมาตรฐานสากล จำแนกออกเป็น 5 ประเภท ยางแท่งที่ไทยส่งออกเป็นส่วนใหญ่เป็นประเภทใกล้เคียงกับของมาเลเซียและ อินโดนีเซีย
ยางแท่งส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยางยานพาหนะ และปัจจุบันประเทศผู้ซื้อมีแนวโน้มเปลี่ยนมาใช้ยางแท่งทดแทนยางแผ่นรมควัน มากขึ้น เพราะยางแท่งมีการกำหนดคุณภาพเป็นมาตรฐานดีกว่ายางแผ่น-รมควัน ทำให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น นำไปแปรรูปได้ง่ายกว่า และขนส่งเคลื่อนย้ายโดยเครื่องจักรได้สะดวกกว่ายางแผ่นที่ต้องระมัดระวังมิ ให้ฉีกขาด
3. น้ำยางข้น (Concentrate Latex)
ผลิตจากน้ำยางสดโดยทำให้ น้ำยางมีความเข้มข้นสูงขึ้น คือมีปริมาณเนื้อยางแห้งประมาณร้อยละ 60 เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นต่อไป น้ำยางข้นเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้วิธีจุ่มขึ้น รูปเช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ลูกโป่ง ฯลฯ
4. ยางเครป (Crepe)
ยางเครปที่ไทยผลิตได้ มี 2 ชนิด คือ เครปสีจาง (Pale Crepe) เป็นยางเครปคุณภาพดี ผลิตจากน้ำ-ยางสด อีกชนิดคือ เครปสีน้ำตาล (Brown Crepe) เป็นยางเครปคุณภาพต่ำ ผลิตจากเศษยางที่จับตัวแล้ว กรรมวิธีการผลิตยางเครปสีน้ำตาลจะยุ่งยากน้อยกว่าการผลิตยางเครปสีจาง
ผลผลิตยางเครปมีลักษณะเป็นแผ่น ส่วนใหญ่มักใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยางพื้นรองเท้า ยางขอบประตูหน้าต่าง เป็นต้น
5. ยางอื่น ๆ เช่น
- ยางแผ่นผึ่งแห้ง เป็นยางแผ่นที่มีสีจาง มีกรรมวิธีการผลิตคล้ายกับยางแผ่นรมควัน แต่เป็นการทำให้แผ่นยางแห้งโดยใช้ความร้อนที่ไม่ใช่วิธีการรมควัน และไม่เติมสารเคมีอื่นใดนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต ยางแผ่นผึ่ง-แห้งจะนำไปใช้ในการผลิตยางรัดของและลูกยางชนิดต่าง ๆ
- ยางสกิม ในการผลิตน้ำยางข้น จะมีผลพลอยได้คือ หางน้ำยางที่ยังมีปริมาณเนื้อยางหลงเหลืออยู่ประมาณร้อยละ 8 หางน้ำยางเหล่านี้จะถูกนำไปแปรรูป โดยเติมสารเคมีให้น้ำยางจับตัวเป็นก้อนแล้วนำไปรีดตัด ย่อย อบ อัดแท่งเพื่อให้ได้เป็นยางชนิดสกิมบล็อก หรือนำก้อนยางที่จับตัวไปเข้าเครื่องรีดเป็นยางชนิดสกิมเครป
ยางสกิมเป็น ยางที่มีคุณภาพต่ำ และมีราคาถูก จึงมักนำไปใช้เป็นวัตถุดิบรวมกับยางคุณภาพดีเช่นยาง-แผ่นรมควัน หรือยางแท่ง เพื่อลดต้นทุนในการผลิต
โครงสร้างการผลิตยางธรรมชาติของไทย เป็นการผลิตยางแผ่นรมควันราวร้อยละ 57 ของการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นทั้งหมด ยางแท่งประมาณร้อยละ 21 น้ำยางข้นประมาณร้อยละ 13 ยางเครปไม่ถึงร้อยละ 1 ที่เหลือเป็นยางอื่น ๆ รวมประมาณร้อยละ 8