พระราชบัญญัติ
สภาการเหมืองแร่
พ.ศ.
๒๕๒๖
ภูมิพลอดุลยเดช
ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓
เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖
เป็นปีที่ ๓๘
ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยสภาการเหมืองแร่
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา
ดังต่อไปนี้
มาตรา
๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ.
๒๕๒๖”
มาตรา
๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา
๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“อุตสาหกรรมเหมืองแร่” หมายความว่า
การทำเหมืองตามกฎหมายว่าด้วยแร่
“ธุรกิจเหมืองแร่” หมายความว่า การสำรวจแร่ การซื้อแร่
การขายแร่ การเก็บแร่ การแต่งแร่ การประกอบโลหกรรม
การนำแร่เข้าหรือส่งแร่ออกนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยแร่
“สมาชิก” หมายความว่า
สมาชิกของสภาการเหมืองแร่
“กรรมการ” หมายความว่า
กรรมการสภาการเหมืองแร่
“เลขาธิการ” หมายความว่า
เลขาธิการสภาการเหมืองแร่
“พนักงาน” หมายความว่า
พนักงานของสภาการเหมืองแร่ และให้หมายความรวมถึงเลขาธิการด้วย
“ลูกจ้าง” หมายความว่า
ลูกจ้างของสภาการเหมืองแร่
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า
ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า
รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา
๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
หมวด
๑
การจัดตั้งสภาการเหมืองแร่
มาตรา
๕ ให้จัดตั้งสภาการเหมืองแร่ขึ้น
มีอำนาจหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้
ให้สภาการเหมืองแร่เป็นนิติบุคคล
มาตรา
๖ สภาการเหมืองแร่มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นตัวแทนของผู้ประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่
และธุรกิจเหมืองแร่ภาคเอกชนในการประสานนโยบายและดำเนินงานระหว่างเอกชนกับรัฐ
(๒) ส่งเสริมและพัฒนาการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่
(๓) ศึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่
และธุรกิจเหมืองแร่
(๔) คุ้มครองและรักษาประโยชน์ของสมาชิกในการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่
(๕) ส่งเสริม
สนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและทดลองเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่
และธุรกิจเหมืองแร่ รวมทั้งเผยแพร่ผลงานดังกล่าวให้สมาชิกทราบ
มาตรา
๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๖ ห้ามสภาการเหมืองแร่กระทำการใดๆ
ดังต่อไปนี้
(๑) กระทำการอันเป็นการทำลายการแข่งขันอันพึงมีตามปกติวิสัยของการประกอบธุรกิจ
เว้นแต่จะเป็นการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล
(๒) กระทำการอันเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่
และธุรกิจเหมืองแร่ที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย
มาตรา
๘ ให้สภาการเหมืองแร่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานคร
และมีสำนักงานสาขาในจังหวัดอื่นได้ตามความจำเป็น
การจัดตั้งสำนักงานสาขาตามวรรคหนึ่ง
ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สภาการเหมืองแร่กำหนด
มาตรา
๙ สภาการเหมืองแร่อาจมีรายได้ดังต่อไปนี้
(๑) ค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงของสมาชิก
(๒) ค่าบำรุงพิเศษ
(๓) ทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้
(๔) เงินรายได้อื่นๆ
มาตรา
๑๐ ให้สภาการเหมืองแร่มีอำนาจเรียกเก็บค่าบำรุงพิเศษได้
ค่าบำรุงพิเศษจะเรียกเก็บจากสมาชิกประเภทใด โดยวิธีใด
ในอัตราเท่าใด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับของสภาการเหมืองแร่
อัตราค่าบำรุงพิเศษที่จะเรียกเก็บในปีหนึ่งๆ
สำหรับสมาชิกที่ประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ต้องไม่เกินร้อยละ ๐.๑
ของราคาแร่ที่สมาชิกแต่ละรายจำหน่ายในปีนั้นจากแร่ที่ได้ในการทำเหมือง
และสำหรับสมาชิกที่มิได้ประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่ต้องไม่เกินปีละหนึ่งหมื่นบาท
มาตรา
๑๑ ห้ามบุคคลใดนอกจากสภาการเหมืองแร่ใช้ชื่อที่เป็นภาษาไทยว่า “สภาการเหมืองแร่”
หรืออักษรต่างประเทศที่แปลหรืออ่านว่า “สภาการเหมืองแร่”
หมวด
๒
สมาชิก กรรมการ
พนักงานและลูกจ้าง
มาตรา
๑๒ สภาการเหมืองแร่มีสมาชิกสามประเภท คือ
(๑) สมาชิกสามัญ
(๒) สมาชิกสมทบ
(๓) สมาชิกชั่วคราว
มาตรา
๑๓ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิกสามัญ
ผู้ประกอบธุรกิจเหมืองแร่มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิกสมทบ
ผู้ที่ประสงค์จะประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่หรือธุรกิจเหมืองแร่มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิกชั่วคราว
มาตรา
๑๔ การรับเป็นสมาชิก สิทธิ หน้าที่
และการขาดจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาการเหมืองแร่รวมทั้งการอุทธรณ์ในกรณีที่สภาการเหมืองแร่ไม่รับผู้สมัครเป็นสมาชิก
ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภาการเหมืองแร่
มาตรา
๑๕ สมาชิกชั่วคราวซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่
หรือธุรกิจเหมืองแร่แล้ว ให้เปลี่ยนฐานะเป็นสมาชิกสามัญ หรือสมาชิกสมทบ
แล้วแต่กรณี
มาตรา
๑๖ ให้มีคณะกรรมการสภาการเหมืองแร่คณะหนึ่งมีจำนวนไม่เกินสิบแปดคน
ประกอบด้วยกรรมการซึ่งเป็นสมาชิกสามัญที่เลือกตั้งโดยสมาชิกสามัญมีจำนวนเป็นสองเท่าของกรรมการซึ่งเป็นสมาชิกสมทบที่เลือกตั้งโดยสมาชิกสมทบ
ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการซึ่งเป็นสมาชิกสามัญคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ
และให้ประธานกรรมการเป็นประธานที่ประชุมสภาการเหมืองแร่
มาตรา
๑๗ ห้ามผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เป็นกรรมการ
(๑) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสภาการเหมืองแร่
(๒) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๓) เป็นข้าราชการประจำหรือข้าราชการการเมือง
(๔) เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๕) เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกเว้นแต่ในความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
มาตรา
๑๘ กรรมการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี
ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับเลือกตั้ง
ให้กรรมการซึ่งเป็นสมาชิกสามัญ
และสมาชิกสมทบออกจากตำแหน่งจำนวนฝ่ายละกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการแต่ละฝ่ายโดยวิธีจับสลาก
หากจำนวนที่คำนวณได้มีเศษให้ปัดเศษทิ้ง
การเลือกตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างตามวรรคสอง
ให้นำมาตรา ๑๖ มาใช้บังคับ
ในกรณีที่มีการเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
หรือพ้นจากตำแหน่งโดยวิธีจับสลาก
ให้ผู้ได้รับเลือกตั้งใหม่อยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี
กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือโดยวิธีจับสลากอาจได้รับเลือกตั้งอีกได้
มาตรา
๑๙ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๘ กรรมการพ้นจากตำแหน่ง
เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ที่ประชุมสภาการเหมืองแร่มีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสามัญ
และสองในสามของจำนวนสมาชิกสมทบที่มาประชุม
(๔) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๗
(๕) รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา
๔๐
เมื่อกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ
ให้คณะกรรมการเรียกประชุมสภาการเหมืองแร่เพื่อเลือกตั้งสมาชิกสามัญ หรือสมาชิกสมทบ
แล้วแต่กรณี เป็นกรรมการแทนภายในสามสิบวัน
เว้นแต่วาระของกรรมการผู้นั้นจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน
จะไม่เลือกตั้งกรรมการแทนก็ได้
กรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งตามวรรคสองอยู่ในตำแหน่งตามวาระของกรรมการซึ่งตนแทน
มาตรา
๒๐ ในระหว่างที่ยังมิได้มีการเลือกตั้งกรรมการแทนตามมาตรา ๑๘
หรือในระหว่างที่ยังมิได้มีการเลือกตั้งกรรมการแทน
หรือในกรณีที่ไม่มีการเลือกตั้งกรรมการแทนตามมาตรา ๑๙
ให้กรรมการที่เหลืออยู่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการต่อไปได้
แต่ต้องมีกรรมการพอที่จะเป็นองค์ประชุมตามมาตรา ๒๒
มาตรา
๒๑ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและดำเนินงานของสภาการเหมืองแร่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาการเหมืองแร่รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่
ดังต่อไปนี้
(๑) ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา ๖
(๒) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกตั้งคณะกรรมการ
(๓) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการประชุมและดำเนินกิจการของคณะกรรมการ
และการประชุมสภาการเหมืองแร่
(๔) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการรับสมัคร คุณสมบัติ สิทธิ
หน้าที่ วินัย การลงโทษสมาชิก
และการพ้นจากสมาชิกภาพรวมทั้งการอุทธรณ์ในกรณีที่สภาการเหมืองแร่ไม่รับผู้สมัครเป็นสมาชิก
(๕) ออกข้อบังคับกำหนดค่าลงทะเบียน ค่าบำรุง
ค่าบำรุงพิเศษ และค่าบริการที่จะพึงเรียกเก็บจากสมาชิก
(๖) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการบัญชีและการเงินของสภาการเหมืองแร่
(๗) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการบรรจุ การแต่งตั้ง
การถอดถอน การกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง
และเงินบำเหน็จรางวัลพนักงานและลูกจ้าง รวมทั้งระเบียบ วินัย การลงโทษ
และการร้องทุกข์ของพนักงานและลูกจ้าง
(๘) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการสงเคราะห์พนักงานและลูกจ้างตลอดจนครอบครัวของบุคคลดังกล่าว
หรือผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นพนักงานและลูกจ้าง
(๙) ออกระเบียบหรือข้อบังคับในเรื่องอื่นใดที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของสภาการเหมืองแร่
(๑๐) ให้คำปรึกษา แนะนำ
ชี้แจง
และอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกในการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่
(๑๑) เสนอแนะ
ให้ความเห็น
และให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีในเรื่องที่เกี่ยวกับการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่
การกำหนดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับตาม (๒) (๓)
(๔) (๕) (๖) และ (๙)
ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสภาการเหมืองแร่ก่อนและการกำหนดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับตาม
(๒) (๔) และ (๕)
เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีแล้วจึงให้ใช้บังคับได้
มาตรา
๒๒ การประชุมของคณะกรรมการ
ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด
จึงจะเป็นองค์ประชุม
ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการซึ่งเป็นสมาชิกสามัญคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือตามเสียงข้างมาก
กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน
ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
ในการประชุมคณะกรรมการ
ถ้ามีการพิจารณาเรื่องใดที่เกี่ยวกับตัวกรรมการผู้ใด
กรรมการผู้นั้นมีสิทธิเข้าประชุมเพื่อชี้แจงในเรื่องนั้น
แต่ไม่มีสิทธิออกเสียง
มาตรา
๒๓ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งเลขาธิการการสภาการเหมืองแร่ขึ้นหนึ่งคนมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา
๒๖
และให้เลขาธิการเป็นเลขานุการของคณะกรรมการและของที่ประชุมสภาการเหมืองแร่ด้วย
เลขาธิการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี
และเมื่อดำรงตำแหน่งครบวาระแล้วอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
ให้เลขาธิการได้รับเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา
๒๔ เลขาธิการต้องมีคุณสมบัติตาม (๑) (๒) และ (๓) และไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (๔) (๕)
(๖) และ (๗) ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีความรู้เกี่ยวกับการอุตสาหกรรมเหมืองแร่หรือธุรกิจเหมืองแร่
(๓) สามารถทำงานให้แก่สภาการเหมืองแร่ได้เต็มเวลา
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๖) เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกเว้นแต่ในความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๗) เป็นข้าราชการประจำหรือข้าราชการการเมือง
มาตรา
๒๕ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒๓ เลขาธิการพ้นจากตำแหน่ง
เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะกรรมการมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา
๒๔
มาตรา
๒๖ เลขาธิการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกิจการของสภาการเหมืองแร่
และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้าง
(๒) รวบรวม ศึกษา
และวิจัยข้อมูล สถิติ
และกิจการอันเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่
(๓) เสนอแนะและปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการ
เพื่อดำเนินการตามมาตรา ๒๑
ในการบริหารกิจการเลขาธิการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการ
มาตรา
๒๗ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการเป็นผู้แทนของสภาการเหมืองแร่
และเพื่อการนี้เลขาธิการจะมอบหมายเป็นหนังสือให้บุคคลใดปฏิบัติกิจการบางอย่างแทนก็ได้
ในเมื่อกิจการนั้นไม่ขัดต่อระเบียบหรือข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดไว้
มาตรา
๒๘ เมื่อตำแหน่งเลขาธิการว่างลงหรือเลขาธิการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการหรือพนักงานคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ทำการแทนชั่วคราวได้
ในกรณีเช่นนี้ให้ผู้ทำการแทนมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเลขาธิการ
มาตรา
๒๙ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งของสภาการเหมืองแร่ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
การประชุมของคณะอนุกรรมการให้นำมาตรา ๒๒
มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้อนุกรรมการได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา
๓๐ ให้ประธานกรรมการและกรรมการได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่ที่ประชุมสภาการเหมืองแร่กำหนด
หมวด
๓
การดำเนินกิจการของสภาการเหมืองแร่
มาตรา
๓๑ ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมสภาการเหมืองแร่ปีละหนึ่งครั้ง
การประชุมเช่นนี้เรียกว่า ประชุมสามัญ
การประชุมคราวอื่นนอกจากการประชุมตามวรรคหนึ่งเรียกว่า
ประชุมวิสามัญ
มาตรา
๓๒ เมื่อมีเหตุจำเป็นคณะกรรมการจะเรียกประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้
สมาชิกสามัญหรือสมาชิกสมทบ
หรือสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบ
จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในแปดของจำนวนสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบรวมกัน
จะทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้เรียกประชุมวิสามัญก็ได้
ในหนังสือร้องขอนั้นต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด
ในกรณีที่สมาชิกเป็นผู้ร้องขอให้เรียกประชุมวิสามัญตามวรรคสองให้คณะกรรมการเรียกประชุมวิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับหนังสือร้องขอ
มาตรา
๓๓ ในการประชุมสภาการเหมืองแร่
ต้องมีสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบรวมกัน
จึงจะเป็นองค์ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม
ให้ถือตามเสียงข้างมากของสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบรวมกันซึ่งมาประชุม
สมาชิกคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน
ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา
๓๔ สมาชิกชั่วคราวมีสิทธิเข้าร่วมการประชุมสภาการเหมืองแร่แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
มาตรา
๓๕ ให้คณะกรรมการจัดทำรายงานประจำปีแสดงผลงานของคณะกรรมการในปีที่ล่วงมา
และคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายเสนอต่อที่ประชุมสามัญพร้อมด้วยงบดุลและบัญชีรายได้รายจ่ายประจำปี
ซึ่งมีผู้สอบบัญชีรับรองภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทินและให้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวไปยังรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ที่ประชุมสามัญรับรองแล้ว
มาตรา
๓๖ ผู้สอบบัญชีตามมาตรา ๓๕ นั้น
ให้ที่ประชุมสภาการเหมืองแร่แต่งตั้งจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชี
และต้องไม่เป็นกรรมการ เลขาธิการ พนักงานหรือลูกจ้าง
ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุด บัญชี
และเอกสารหลักฐานของสภาการเหมืองแร่ และขอคำชี้แจงจากกรรมการ เลขาธิการ
พนักงานและลูกจ้างได้
ให้ผู้สอบบัญชีได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่ที่ประชุมสภาการเหมืองแร่กำหนด
หมวด
๔
การควบคุมของรัฐ
มาตรา
๓๗ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) ควบคุมดูแลให้คณะกรรมการดำเนินการตามมาตรา
๓๕
(๒) สั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานของสภาการเหมืองแร่
(๓) สั่งเป็นหนังสือให้กรรมการหรือเลขาธิการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสภาการเหมืองแร่
และจะให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงานหรือรายงานการประชุมของคณะกรรมการด้วยก็ได้
(๔) สั่งเป็นหนังสือโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีให้สภาการเหมืองแร่ยับยั้งหรือแก้ไขการกระทำใดๆ
ที่ปรากฏว่าขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี
มาตรา
๓๘ เพื่อปฏิบัติการตามคำสั่งของรัฐมนตรีตามมาตรา ๓๗
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบเอกสารหรือหลักฐานในสำนักงานของสภาการเหมืองแร่ได้ในระหว่างเวลาทำการ
หรือให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องชี้แจงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ร้องขอ
ในการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง
ให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร
มาตรา
๓๙ ในการปฏิบัติตามมาตรา ๓๘
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา
๔๐ เมื่อปรากฏว่าสภาการเหมืองแร่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐมนตรี ตามมาตรา ๓๗
หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของสภาการเหมืองแร่ หรือกระทำการใดๆ
อันอาจเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ
หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี
มีอำนาจสั่งให้กรรมการคนใดคนหนึ่งหรือทั้งหมดพ้นจากตำแหน่ง ในกรณีเช่นนี้
กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งไม่มีสิทธิเป็นกรรมการอีก
เว้นแต่จะพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่รัฐมนตรีมีคำสั่ง
มาตรา
๔๑ ในกรณีที่รัฐมนตรีมีคำสั่งให้กรรมการทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๔๐
ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งบุคคลจากสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบของสภาการเหมืองแร่ที่เหมาะสมตามจำนวนและอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในมาตรา
๑๖
เป็นกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีมีคำสั่งให้กรรมการทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง
และให้คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งใหม่เรียกประชุมสภาการเหมืองแร่
เพื่อเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๖
ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ
เมื่อเลือกตั้งคณะกรรมการใหม่แล้ว
ให้คณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง พ้นจากหน้าที่
หมวด
๕
บทกำหนดโทษ
มาตรา
๔๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน
หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และปรับอีกวันละหนึ่งร้อยบาทจนกว่าจะเลิกใช้
มาตรา
๔๓ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ชี้แจงหรือไม่อำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการตามมาตรา
๓๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
หมวด
๖
บทเฉพาะกาล
มาตรา
๔๔ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้อำนวยการองค์การเหมืองแร่ในทะเล
ผู้อำนวยการองค์การเหมืองแร่ นายกสมาคมเหมืองแร่ไทย นายกสมาคมอุตสาหกรรมเหมืองแร่
นายกสมาคมเหมืองแร่สยามนานาชาติ นายกสมาคมฟลูออไรท์ไทย
นายกสมาคมเหมืองแร่จังหวัดระนอง
และนายกสมาคมเหมืองแร่จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นคณะกรรมการชั่วคราว
ทำหน้าที่แทนสภาการเหมืองแร่
และดำเนินการรับสมัครสมาชิกภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ให้คณะกรรมการชั่วคราวตามวรรคหนึ่ง
จัดให้มีการประชุมสมาชิกเพื่ออนุมัติข้อบังคับว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการตามมาตรา
๒๑ และเลือกตั้งคณะกรรมการตามมาตรา ๑๖
และปฏิบัติการอย่างอื่นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
และให้คณะกรรมการชั่วคราวดังกล่าวพ้นจากหน้าที่เมื่อคณะกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งเข้ารับหน้าที่
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง
ถ้ามีเหตุจำเป็นและสมควร รัฐมนตรีจะขยายระยะเวลาให้ก็ได้
การขยายระยะเวลาดังกล่าวให้ขยายได้ไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน
คณะกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งตามวรรคสอง
ต้องจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่เพื่อแต่งตั้งประธานกรรมการตามมาตรา
๑๖ วรรคสอง และเลขาธิการตามมาตรา ๒๓ และจัดให้มีการประชุมสภาการเหมืองแร่ตามมาตรา
๓๑ วรรคหนึ่ง ภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ ทั้งนี้
เพื่อรับรองผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการชั่วคราว
ตลอดจนพิจารณาแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและเรื่องอื่นๆ
ที่ที่ประชุมพิจารณาเห็นสมควร
มาตรา
๔๕ ให้ผู้ที่ใช้ชื่อที่เป็นภาษาไทยว่า “สภาการเหมืองแร่”
หรืออักษรต่างประเทศที่แปลหรืออ่านว่า “สภาการเหมืองแร่” ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา ๑๑
อยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเลิกใช้ชื่อหรือคำอื่นใดดังกล่าวแล้วนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
และในระหว่างเวลาดังกล่าวมิให้นำมาตรา ๔๒ มาใช้บังคับ
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ป. ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :-
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ
เนื่องจากแร่เป็นทรัพยากรของชาติที่ใช้หมดแล้วจะไม่สามารถหาสิ่งอื่นใดมาทดแทนได้
และในปัจจุบันอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและทำรายได้ให้แก่ประเทศชาติมากขึ้น
ดังนั้น
เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
สมควรจัดตั้งสภาการเหมืองแร่ขึ้นทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่
และธุรกิจเหมืองแร่ ในการประสานนโยบายและการดำเนินงานระหว่างเอกชนกับรัฐ
จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สั่งซื้อที่
ส่งเป็นไฟล์ทางอีเมล์ สนใจสั่งซื้อมาที่ โทร 085-0127724 Line : testthai1
สามารถนำไปปริ้นเพื่นอ่านได้เลย ในราคาเพียงส่ชุดละ 399 บาท ได้รับภายใน 2-3 ชม.
ส่ง EMS ทางไปรษณีย์ เป็นหนังสือ +MP3 ราคา 679 บาท ได้รับภายใน 2-3 วัน
กรุณาชำระค่าสินค้าและบริการ
เลขที่บัญชี 491-2-00428-2
ธ.กสิกรไทย ออมทรัพย์ ชื่อบัญชี decho pragay
ผลงานการสอบได้ของลูกค้า
ติดตามข่าวการสอบราชการที่ https://www.facebook.com/testthai1
ดาวน์โหลดแนวข้อสอบรับราชการที่นี่ www.ข้อสอบงานราชการไทย.com